สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ถือเป็นสถานีหลักในการวิจัยไม้ดอกไม้ประดับเขตหนาว และไม้ผลเขตหนาวขนาดเล็ก รวมถึงการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พืชผัก พืชไร่ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไม้ดอกและไม้ประดับที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งบนพื้นที่สูง

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรที่อาศัยบนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ซึ่งเดิมมักบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อทำไร่เลื่อนลอปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และฝิ่น ส่งผลให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่งส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรกรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น บุกรุกทำลายป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ด้วยการให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบถาวร อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ. 2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่งดำเนินงานวิจัยด้านไม้ตัดดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผลขนาดเล็ก รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัย อันนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านรอบ ๆ สถานี ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการพัฒนาทางสังคม และการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร

ทัศนียภาพสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีที่อยู่และที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง สนับสนุนส่งเสริมให้หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น และเลี้ยงสัตว์โดยยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

การดำเนินงาน ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ งานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน งานวิจัยจำพวกไม้ดอกและไม้ประดับ มีทั้งการพัฒนาและรวบรวมสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ ประเภทผักก็มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ต้านทานโรค พืชไร่ก็มีการส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพันธุ์ข้าว งานไม้ผลมีการปรับปรุงเพื่อทดสอบสายพันธุ์ใหม่ให้ทนต่อการปลูกบนที่สูงของไทย และมีการส่งเสริมงานประมงบนที่สูง

ลูกพีชจากอินทนนท์ (ภาพจาก Facebook : สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์)

“หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง” เป็นที่ทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช ทั้งพันธุ์ไม้ผลและพืชไร่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เพื่อปรับปรุงให้ต้นสามารถเติบโตได้ดี ออกผลใหญ่ และรสชาติกลมกล่อม อีกทั้งยังคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น ปรับสีดอกไฮเดรนเยีย เพื่อให้ออกดอกสวยและทนต่อสภาพอากาศในบ้านเราได้

ผลผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้

“หน่วยวิจัยแม่ยะน้อย” เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งเป็นกาแฟพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูง มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี จุดเด่นของกาแฟอาราบิก้าคือ กลิ่นที่หอมเข้มและรสชาติกลมกล่อมกว่ากาแฟสายพันธุ์อื่น หน่วยวิจัยแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กาแฟอาราบิก้าของโครงการหลวง และเป็นแหล่งทดลองและสาธิตการปลูกต้นกาแฟ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรในหมู่บ้านแม่ยะน้อยที่อยู่ใกล้เคียงเป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน หน่วยวิจัยแม่ยะน้อยจึงถูกขนานนามว่าเป็น “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์กาแฟพน่วยแม่ยะน้อย” โดยทำการส่งเสริมวิธีการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าแก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีรสชาติกลมกล่อม

 

ผลผลิตพืชผักเมืองหนาว(ภาพจาก Facebook : สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์)

 

เดินเที่ยวในสถานีหลักบ้านขุนกลาง

“สถานีหลักบ้านขุนกลาง” เป็นที่ทำการของสถานีและเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีบริการที่พักและอาหาร ซึ่งภายในสถานีหลักนั้นก็มีจุดที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมความสวยงามได้หลายจุด อาทิ “สวน 80 พรรษา” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ภายในมีไม้ดอกเมืองหนาวหาชมยาก ไม้ดอก และไม้ยืนต้น นำมาจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม

แล้วก็ยังมี “สวนหลวงสิริภูมิ” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน “โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ” เป็นจุดที่จัดแสดงพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ ที่ไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป และเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ “สวนกุหลาบพันปี” เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีจากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูงทั้งในและต่างประเทศ “สวนซากุระ” เป็นสวนที่ปลูกและรวบรวมพันธุ์พีชในวงศ์ Prunus เช่น ซากุระ ท้อดอก พลัม บ๊วย ฯลฯ

กุหลาบพันปี สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

นอกจากนี้แล้วก็ยังมี “หน่วยวิจัยประพงพื้นที่สูงอินทนนท์” โดยมูลนิธิโครงการหลวงร่วมมือกับกรมประมง มีการทดลองเพาะเลี้ยงและส่งเสริมให้ชุมชนทำการประมงในพื้นที่สูง เนื่องจากภูมิประเทศแถบนี้เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทร้าต์ ปลาสเตอร์เจี้ยน กุ้งก้ามแดง และ ปูขน เพราะปลาต้องการน้ำเย็นที่ไหลอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้อีกทางหนึ่งนอกจากผลผลิตทางการเกษตร

สถานที่ตั้งและลักษณะทั่วไป

3.1 ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ดำเนินงานจำนวน 4 แห่ง รวมพื้นที่ 513 ไร่ ประกอบด้วยสถานีฯ (บ้านขุนกลาง) 89.5 ไร่, หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง 193.0 ไร่, หน่วยแม่ยะน้อย 110.0 ไร่  และหน่วยผาตั้ง 120.5 ไร่

3.2 ภูมิประเทศ เป็นหุบเขาชันมีความลาดเท ตั้งแต่ 10-60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่  สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 600-1,380 เมตร ลักษณะดินเป็นดินตะกอนและดินเหนียว มี pH ที่ 6.2-7.5 ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีและปานกลาง

3.3 ภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อน 30 องศาเซลเซียส ฤดูฝน 22.6 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว 17.1 องศาเซลเซียส  อุณหภูมิเฉลี่ย เฉลี่ยต่ำสุด 14 องศาเซลเซียส สูงสุด 26 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 246.39 มิลลิเมตร

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.royalprojectthailand.com/
https://www.paiduaykan.com/